วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

อาณาจักรอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)









สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๕ ทรงสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ ปีขาล โทศก ณ วันศุกร์ เดือนห้า เพลาสามนาฬิกา ห้าบาท ได้รับถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ฯ ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ณ ชัยภูมิที่เอื้ออำนวยทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัยจากข้าศึกและความอยู่ดีกินดีของชาวอยุธยา คือตั้งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมที่มีแม่น้ำล้อมรอบ ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเกาะ สะดวกในการป้องกันตัวเมืองจากผู้เข้ามารุกราน และพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรมเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการคมนาคม อันเนื่องจากมีแม่น้ำสามสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ไหลมาบรรจบกัน ควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำของบรรดาบ้านเมืองที่ อยู่เหนือขึ้นไปที่จะออกสู่ทะเล สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงนำลักษณะการปกครองทั้งของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกรุงสุโขทัย และของขอม มาประยุกต์ใช้กับกรุงศรีอยุธยาได้จัดการปกครองบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักร ออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรส ไปครองเมืองลพบุรี และขุนหลวงพะงั่ว ผู้เป็นพี่พระมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ในด้านการแผ่ขยายพระราชอาณาเขต ในปี พ.ศ.๑๘๙๕ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอม ได้สำเร็จนับเป็นการทำสงครามครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๙๗ ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปยึดเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผลให้พระเจ้าลิไทได้ส่งราชทูตมาขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และขอเมืองชัยนาทคืน นอกจากขอมและสุโขทัยแล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติ เพื่อประโยชน์ทางการค้าและการเมืองโดยได้ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี และการค้ากับจีน อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา ชวา มลายูและญวน สมเด็จพระเจ้าอู่ทองครองราชย์ได้ ๑๙ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ พระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา








สมเด็จพระราเมศวร








สมเด็จพระราเมศวร ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์สองครั้งคือ ครั้งแรกต่อจากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๒๓ และครั้งที่สอง ต่อจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพะงั่ว) ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๓๘ ก่อนขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราเมศวรได้รับโปรดเกล้า ฯ จากสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ให้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง และเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อทางกัมพูชาไม่เป็นไมตรีกับทางกรุงศรีอยุธยาที่เรียกว่า ขอมแปรพักตร์ ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปตีนครธม ราชธานีของขอม ร่วมกับขุนหลวงพะงั่ว จนตีนครธมได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.๑๙๑๓ ขุนหลวงพะงั่วได้ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรี มายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวรทรงเชิญเสด็จเข้าพระนครแล้วถวายราชสมบัติให้ ส่วนพระองค์เองขึ้นไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม เมื่อขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระเจ้าทองลันผู้เป็นพระราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์ได้เจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรก็ยกกำลังจากเมืองลพบุรี จับพระเจ้าทองลันสำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชย์ต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำสงครามแผ่ขยายราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาออกไปยังอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรขอมกล่าวคือ ในปี พ.ศ.๑๙๓๓ ทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ในชั้นแรกเจ้าเมืองเชียงใหม่ขอสงบศึก และจะนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย แต่สุดท้ายไม่ได้ทำตามสัญญา พระองค์จึงยกกำลังเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ จับนักสร้าง โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ได้ แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมาทางใต้ ให้ไปอยู่ที่เมืองจันทบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา หลังจากตีเชียงใหม่แล้วก็ได้ยกกำลังไปทำสงครามกับอาณาจักรขอม เนื่องจากทางขอมได้ยกกำลังมากวาดต้อนผู้คนชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรี ไปประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ คน พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์เป็นแม่ทัพหน้า เมื่อตีเมืองขอมได้แล้วจึงได้นำชาวเมืองจันทบุรี และเมืองชลบุรีกลับคืนมา แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาไชยณรงค์ปกครองเมืองขอม พร้อมกับกำลังพล ๕,๐๐๐ คน ต่อมาเมื่อญวนยกกำลังมารบ พระองค์จึงให้พระยาไชยณรงค์กวาดต้อนผู้คนมายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ ครองราชย์ได้ ๘ ปี









สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)






สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ มีพระนามเดิมว่า ขุนหลวงพะงั่ว ทรงเป็นพระเชษฐาของพระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง เดิมครองเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ทรงเป็นนักรบที่สามารถ ตั้งแต่ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ยกกำลังไปตีหัวเมืองเหนือหลายครั้ง โดยได้ไปตีเมืองชากังราวสามครั้ง เนื่องจากเป็นเมืองที่กรุงสุโขทัยใช้เป็นเมืองหน้าด่าน จากการรุกเข้าโจมตีของกรุงศรีอยุธยาขุนหลวงพะงั่วได้ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับจักรพรรดิจีนหลายครั้ง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการซึ่งกัน และกันทางไทยได้ส่งช้าง เต่าหกขา หมีดำ ลิงเผือกและของพื้นเมืองอื่น ๆ ไปถวาย ทางจีนได้ส่งผ้าแพรดอกขาว ผ้าแพรสี ผ้าไหมสีเงินทอง และปฏิทินหลวงมาถวาย ในด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นองค์เอกอัครศาสนูปปถัมภกเช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์องค์ก่อน และแม้ว่าจะอยู่ในช่วงต้น ๆ ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและต้องทำศึกสงครามเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของพระราชอาณาจักร พระองค์ยังได้สร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ คือ พระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๙ วา ขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ครองราชย์ได้ ๑๘ ปี






สมเด็จพระเจ้าทองลัน (ทองจันทร์)


สมเด็จพระเจ้าทองลัน ทรงเป็นพระราชโอรสในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ เมื่อขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคตขณะที่ทรงยกทัพไปตีเมืองชากังราวครั้งที่สี่ บรรดาข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ซึ่งทรงเป็นรัชทายาทขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๑ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา พระเจ้าทองลันครองราชย์อยู่ได้เจ็ดวัน ก็เสด็จสวรรคตในปีเดียวกัน






สมเด็จพระรามราชาธิราช


สมเด็จพระรามราชาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๙ ที่เมืองลพบุรี ทรงพระนามว่า เจ้าพระยาราม เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าของกรุงศรีอยุธยา ในห้วงเวลาที่พระองค์ครองราชย์ บ้านเมืองเป็นปกติสุขดี พระองค์ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๐ และก็ได้ส่งทูตแลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีอยู่เสมอในระยะต่อ ๆ มา สมเด็จพระรามราชาธิราช พยายามที่จะขยายอำนาจไปยังอาณาจักรล้านนา แต่ไม่เป็นผล ทางอาณาจักรสุโขทัยก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ และยังไม่ไว้วางพระทัยเจ้านครอินทร พระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งทางพระเจ้ากรุงจีนให้ความสนิทสนม อีกทั้งยังยกย่องว่าเป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ได้มีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี และเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเจ้าพระยามหาเสนาบดีได้หนีไปอยู่ฟาก ปทาคูจาม แล้วได้รวมกับเจ้านครอินทร์ ยกกำลังจากสุพรรณบุรีมายึดวังหลวง แล้วทูลเชิญเจ้านครอินทร์ขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปครองเมืองทาคูจาม เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ พระองค์ทรงครองราชย์กรุงศรีอยุธยาได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตปีใดไม่ปรากฏ






สมเด็จพระนครินทราธิราช (พระนครอินทร์)


สมเด็จพระนครินทร์ ฯ ทรงเป็นพระราชนัดดาในขุนหลวงพะงั่ว เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๒ ทรงครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๒ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่หกของกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๑๙๖๒ พระยาบาลเมืองและพระยารามได้สู้รบชิงราชสมบัติกรุงสุโขทัย พระองค์ได้ทรงเข้าไปไกล่เกลี่ย แล้วทรงอภิเษกพระยาบาลเมืองให้ครองกรุงสุโขทัย และพระยารามราชครองเมืองศรีสัชนาลัย หลังจากนั้นได้ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยาใหม่ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าอ้ายพระยาไปครองเมืองสุพรรณซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง เจ้ายี่พระยาไปครองเมืองนครสวรรค์ และเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาทซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านเหนือ สมเด็จพระนครินทร์ ฯ เคยเสด็จไปเมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๐ เมื่อครั้งยังครองเมืองสุพรรณบุรี เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนสมเด็จพระนครินทร์ ฯ ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗






สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)


เจ้าสามพระยาเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่สามในสมเด็จพระนครินทร์ ฯ จากการแย่งราชสมบัติของเจ้าอ้ายพระยา กับเจ้ายี่พระยา จนสิ้นพระชนม์ไปทั้งสององค์ เจ้าสามพระยาจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๗ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีเมืองเหนือ และเมืองกัมพูชา กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระองค์ได้ทรงยกกองทัพไปล้อมพระนครหลวง (นครธม)ของกัมพูชาอยู่ถึงเจ็ดเดือนจึงสามารถยึดได้ นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ.๑๙๘๕ พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ จึงได้ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๑๙๘๘ ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่ แต่ทรงประชวรเสียก่อน จึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์นอกจากทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตแล้ว ยังได้ปรับปรุงด้านการปกครอง โดยได้ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ขึ้นในกรุงศรีอยุธยา ในด้านการพระศาสนา ได้ทรงสร้างวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา เจ้าสามพระยาสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ ครองราชย์ได้ ๒๔ ปี








สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ






สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จพระราชยสภพ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เมื่อพระองค์มีพระชนม์มายุได้เจ็ดพรรษา พระราชบิดาได้พระราชทานพระนามตามพระราชประเพณีว่าสมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนาถบพิตร และเมื่อพระชนมายุได้ ๑๕ พรรษา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จไปครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยได้ประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ เสด็จสวรรคต พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑ พระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่แปดของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีพระราชสมัญญาอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าช้างเผือก เนื่องจาก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๔ พระองค์ได้ทรงรับช้างเผือก ซี่งนับเป็นช้างเผือกช้างแรกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครอง โดยทรงรวมอำนาจจากการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือ ราชธานี และแยกฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนออกจากกันคือ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้า รับผิดชอบฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายก เป็นหัวหน้ารับผิดชอบ มีผู้ช่วยคือ จตุสดมภ์ ได้แก่ กรมเมือง กรมวัง กรมพระคลัง และกรมนา ในกรณีที่เกิดศึกสงครามทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนจะต้องนำหน้าในกองทัพร่วมกัน การปกครองในส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่เดิมที่แบ่งออกเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง แล้วระบบการปกครองหัวเมืองเสียใหม่ ดังนี้ หัวเมืองชั้นใน เช่น เมืองราชบุรี นครสวรรค์ นครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี เป็นต้น จัดเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมไปปกครอง แต่สิทธิอำนาจทั้งหมดยังขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา และทวาย จัดเป็น เมือง เอก โท ตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาเป็นสิทธิขาด เป็๋นผู้แทนองค์พระมหากษัตริย์ มีกรมการปกครองในตำแหน่ง เมือง วัง คลัง นา เช่นเดียวกับของทางราชธานี เมืองประเทศราช ทางกรุงศรีอยุธยาคงให้เจ้าเมืองของเมืองหลวงนั้นปกครองกันเอง โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองเมืองประเทศราชจะต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการทุกรอบสามปี และต้องส่งกองทัพมาช่วยทางราชธานี เมื่อเกิดการสงคราม สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้า แขวง มีหมื่นแขวงเป็นหัวหน้า การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวได้ใช้สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการให้มีบรรดาศักดิ์ตามลำดับจากต่ำสุดไปสูงสุดคือ ทนาย พัน หมื่น ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา มีการกำหนดศักดินาเพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับราชการ และได้อาศัยใช้เป็นเกณฑ์กำหนดการมีที่นาและการปรับไหมตามกฎหมาย ในปี พ.ศ.๒๐๐๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎมณเฑียรบาล ขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับการปกครอง แบ่งออกเป็นสามแผนคือ พระตำรา ว่าด้วยแบบแผนและการพระราชพิธีต่าง ๆ พระธรรมนูญ ว่าด้วยเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ พระราชกำหนด เป็นข้อบังคับในพระราชสำนัก ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวงนับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เรื่องแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมที่ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาภาษา และวรรณคดีของไทย นอกจากนี้ยังมีลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นยอดวรรณคดีประเภทลิลิตของไทย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ ครองราชย์ได้ ๔๐ ปี พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ๑๕ ปี และประทับที่เมืองพิษณุโลก ๔๐ ปี




สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระอินทราชา)


สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระนามเดิมว่า พระอินทราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่เก้าของกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในช่วงที่ทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาหลายครั้ง พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา ๒๕ ปี จนเสด็จสวรรคต ในห้วงเวลาดังกล่าว สมเด็จพระบรมราชาจึงได้ครองกรุงศรีอยุธยา ที่เสมือนมีฐานะเมืองลูกหลวง ได้มีส่วนรับพระราชภาระจากพระราชบิดาให้เป็นไปด้วยดี ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย คืนมาจากกรุงหงสาวดี และได้กวาดต้อนผู้คนมาเป็นจำนวนมาก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ ครองราชย์ได้ ๓ ปี

แบบประเมินเว็บของวิชา Computer and Presentation

-เนื้อหาเกี่ยวกับ ?
เนื้อหา ทั้งเกี่ยวกับเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย และการก่อตั้งอาณจักรต่างๆก่อนที่จะมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

-วัตถุประสงค์/เป้าหมาย ?
ทำให้คนที่เข้าศึกษา เข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของชาติที่ตนอาศัยอยู่ ว่ามาจากไหน เกิดมาได้อย่างไร

-เนื้อหาเป็นประโยชน์ (ให้คะแนน 4) ?
-ความน่าสนใจ (4) ?
-ความทันสมัย (4) ?
-การออกแบบ/ความสวยงาม (3) ?
-ความเรียบง่าย(อ่านง่าย เข้าใจง่าย)(3)?
สรุปคะแนนที่ได้

18 คะแนน

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

อาณาจักรสุโขทัย



ประวัติ
เดิมที สุโขทัย เป็นสถานีการค้าของแคว้นละโว้ (ลวรัฐ) ของอาณาจักรขอม บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้ โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งเป็นคล้ายๆกับผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย จึงส่งผลให้ พ่อขุนผาเมือง (พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม) เจ้าเมืองราด และ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ตัดสินพระทัยจะยึดดินแดนคืน การชิงเอาอำนาจจากผู้ครองเดิมคือ อาณาจักรขอม เมื่อปี พ.ศ. 1781 และสถาปนาเอกราช ให้กรุงสุโขทัยขึ้นเป็นรัฐอิสระ โดยไม่ขึ้นตรงกับรัฐใด
และพ่อขุนผาเมือง ก็กลับยกเมืองสุโขทัย ให้พ่อขุนบางกลางหาวครอง พร้อมทั้ง พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงพระราชทานให้พ่อขุนผาเมืองก่อนหน้านี้ โดยคาดว่า เหตุผลคือพ่อขุนผาเมืองมีพระนางสิขรเทวีพระมเหสี (ราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ซึ่งพระองค์เกรงว่าชาวสุโขทัยจะไม่ยอมรับ แต่ก็กลัวว่าทางขอมจะไม่ไว้ใจจึงมอบพระนามพระราชทาน และพระแสงขรรค์ชัยศรี ขึ้นบรมราชาภิเษก พ่อขุนผาเมืองให้เป็นกษัตริย์ เพื่อเป็นการตบตาราชสำนักขอม
หลังจากมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นเป็นราชธานี และมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงดูแลพระราชอาณาจักร และบำรุงราษฏรเป็นอย่างดี
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่สาม พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านนิรุกติศาสตร์ การปกครอง กฎหมาย วิศวกรรม ศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ผลงานของพระองค์ที่ปรากฏให้เห็น อาทิ ศิลาจารึกที่ค้นพบในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อธิบายถึงความเป็นมา ลีลาชีวิตของชาวสุโขทัยโบราณ น้ำพระทัยของพระมหากษัตริย์ การพิพากษาอรรถคดี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผลงานทางวิศวกรรมชลประทาน คือ เขื่อนสรีดภงค์ที่เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง มีการทำท่อส่งน้ำจากตัวเขื่อนมาใช้ในเมือง
พระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงศาสนามากที่สุดคือ พระเจ้าลิไท ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างวัดมากที่สุด
กษัตริย์พระองค์สุดท้ายในฐานะรัฐอิสระ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) ต่อจากนั้น อาณาจักรได้ถูกแบ่งส่วนออกเป็นของอาณาจักรอยุธยา และอาณาจักรล้านนา จนในที่สุด อาณาจักรทั้งหมด ก็ถูกรวมศูนย์ เข้าเป็นดินแดนสวนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) แห่งอาณาจักรอยุธยา สุโขทัยถูกแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน
-พระยาบาล (บรมปาลมหาธรรมราชา) ครองพิษณุโลก
- พระยาราม ครองสุโขทัย

- พระยาเชลียง ครองเชลียง

- พระยาแสนสอยดาว ครองกำแพงเพชร
ความเจริญรุ่งเรือง
ด้านเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 "…ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า…" และ "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว..." ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยระบบการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เช่นสังคมไทยส่วนใหญ่ในชนบทปัจจุบัน
ด้านสังคม ความเชื่อ และศาสนา การใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยสุโขทัยมีความอิสรเสรี มีเสรีภาพอย่างมากเนื่องจากผู้ปกครองรัฐให้อิสระแก่ไพร่ฟ้า และปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อกับลูก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า "…ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…"
ด้านความเชื่อและศาสนา สังคมยุคสุโขทัยประชาชนมีความเชื่อทั้งเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า "…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขระพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยว เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…"
ส่วนด้านศาสนา ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราช ในวันพระ จะมีภิกษุเทศนาสั่งสอน ณ ลานธรรมในสวนตาล โดยใช้พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ เป็นอาสนะสงฆ์ ในการบรรยายธรรมให้ประชาชนฟัง ยังผลให้ประชาชนในยุคนี้นิยมปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีการถือศีล โอยทานกันเป็นปกติวิสัย ทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุขร่มเย็น

ด้านการปกครอง ด้านการปกครองสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้
ในแนวราบ จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้
ในแนวดิ่ง ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
- พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็ จะเรียก "ลูกเจ้า" - ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัด ทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า - ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า) - ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาส นี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)

ความสัมพันธ์กับต่างชาติ
จักรวรรดิมองโกล

กองทัพจักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน

การสิ้นสุดยุคอาณาจักร

พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง (ตาก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยบุรี ศรีเทพ) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐสุโขทัยโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนี้ 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ
ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการ อันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น อยู่ที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บนรอยเลื่อนวังเจ้า ในราวพุทธศักราช 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้แต่แม่น้ำแควน้อย ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน

รายพระนามพระมหากษัตริย์สุโขทัยราชวงศ์นำถุม (ราชวงศ์ผาเมือง)

- พ่อขุนศรีนาวนำถุม ครองราชย์ปีใดไม่ปรากฏ

- พ.ศ. 1724 ขอมสบาดโขลญลำพง

- ขอมสบาดโขลญลำพง (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1780) ราชวงศ์พระร่วง

- พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ. 1780- สวรรคตปีใดไม่ปรากฏ (ประมาณ พ.ศ. 1801) )

- พ่อขุนบานเมือง (หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต - พ.ศ. 1822)

- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822 - พ.ศ. 1842) (ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า พ่อขุนรามราช) - ปู่ไสสงคราม (รักษาราชการชั่วคราวแทน พญาเลอไท ซึ่งขณะนั้นไม่ได้อยู่ในเมืองสุโขทัย) - พญาเลอไท (พ.ศ. 1842 - พ.ศ. 1833)

- พญางั่วนำถุม (พ.ศ. 1833 - พ.ศ. 1890) [1]

- พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) (พ.ศ. 1890 - พ.ศ. 1913)

- พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไท) (พ.ศ. 1913 - พ.ศ. 1931) (ตกเป็นประเทศราชของอยุธยาในปี พ.ศ. 1921)

- พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลือไท) (พ.ศ. 1931 - พ.ศ. 1962)

- พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) (พ.ศ. 1962 - พ.ศ. 1981)

- พระยายุทธิษฐิระ (พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 2011) (เป็นประเทศราชล้านนาในปี พ.ศ. 2011) [2] ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 2011 - พ.ศ. 2031) (สถาปนา และประทับ ณ พิษณุโลก จนสิ้นรัชกาล)

- พระเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2031 - พ.ศ. 2034) (ตำแหน่งพระมหาอุปราชของอยุธยา)

- พระอาทิตยวงศ์ (พระหน่อพุทธางกูร) (พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072) (ตำแหน่งพระมหาอุปราชของอยุธยา)

- พระไชยราชา (พ.ศ. 2072 - พ.ศ. 2077) (ตำแหน่งพระมหาอุปราชของอยุธยา) ราชวงศ์สุโขทัย

- พระมหาธรรมราชา (ขุนพิเรนทรเทพ) (พ.ศ. 2077 - พ.ศ. 2111) (เจ้าราชธานีฝ่ายเหนือ)

- พระนเรศวร (หลังเสด็จกลับจากหงสาวดี - พ.ศ. 2127) (ตำแหน่งพระมหาอุปราชของอยุธยา)


วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

ล้านนา ตอนจบ

พญามังรายได้รับอิทธิพลพระพุทะศาสนาจากหริภุญไชย พระองค์ได้โปรดให้สร้างเจดีย์กู่คำ เลียนแบบเจดีย์กู่กุด (อยู่ที่ลำพูน) สร้างวัดกานโถม (วัดช้างค้ำ) พร้อมกับสร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธรูป และกัลปนาที่ดินและข้าพระด้วย พญามังรายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อพ่อขันรามคำแหง และพญางำเมือง (เจ้าเมืองพะเยา) กษัตริย์ทั้งสามพระองค์อยู่ในฐานะพระสหายร่วมน้ำสาบาน การเป็นไมตรีที่ดีต่อกันนั้น ก็เพื่อร่วมมือกันต่อต้านภัยจากมองโกล ซึ่งกำลังขยายอำนาจในเวลานั้น กล่าวคือ กองทัพมองโกลตีได้น่านเจ้า พ.ศ. 1796 ได้ฮานอย(เวียตนาม) พ.ศ. 1800 และได้พุกาม (พม่า) พ.ศ. 1830 ซึ่งในปีที่พุกามแตก กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ได้ทำสัญญาเป็นไมตรีกัน
ในการป้องกันภัยจากมองโกล นอกจากพญามังรายจะใช้นโยบายเป็นไมตรีกับสุโขทัยและพะเยาแล้ว ยังใช้การทำสงครามอีกด้วย การทำสงครามกับมองโกลมีข้อสังเกตว่าจะเกิดขึ้นหลังก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เข้าใจว่าเป็นช่วงอิทธิพลของมองโกลลดลงอย่างมาก หลังจากสิ้นพระชนม์ของกุลไลข่าน ในปี พ.ศ. 1837พญาไชยสงคราม (พ.ศ. 1854 – 1868) ได้เริ่มประสบปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติจากขุนเครือพระอนุชา ซึ่งสามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ (พญาไชยสงครามหลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ย้ายไปประทับที่เชียงราย ) แต่ก็ถูกกำจัดไปได้โดยท้าวน้ำท่วม โอรสของพญาไชยสงคราม ซึ่งยกทัพมาจากเมืองฝางตีเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาได้ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพญาไชยสงครามระแวงว่าท้าวน้ำท่วมจะเป็นกบฏ จึงส่งไปครองเมืองเชียงตุง แล้วให้พญาแสนพูดูแลเมืองเชียงใหม่แทน นับเป็นสมัยที่อำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกท้าทายจากพระบรมวงศานุวงศ์เป็นครั้งแรก

พญาแสนพู (พ.ศ.1868 – 1877) พระองค์แต่งตั้งให้ท้าวคำฟู ซึ่งเป็นพระราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์ยังคงประทับอยู่ที่เชียงราย ในปี พ.ศ.1870 ได้สร้างเมืองเชียงแสนในบริเวณเมืองเงินยาง มีเป้าหมายเพื่อป้องกันศึกด้านเหนือ เพราะเชียงแสนตั้งริมแม่น้ำโขงและใช้แม่น้ำโขงเป็นคูเมืองธรรมชาติ หลังจากสร้างเชียงแสนแล้ว พญาแสนพูประทับที่เมืองเชียงรายตลอดรัชสมัย
พญาคำฟู (พ.ศ. 1877 – 1879) พญาคำฟูประทับที่เมืองเชียงแสน ส่วนเมืองเชียงใหม่ทรงแต่งตั้งให้ท้าวผายู ปกครองแทน อาณาจักรล้านนาในสมัยนี้มีความเข้มแข็งเห็นได้จากนโยบายขยายอาณาเขตไปทางตะวันออก โดยเริ่มทำสงครามกับพะเยา สามารถยึดเมืองพะเยาได้ เมืองพะเยาจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนานับแต่นั้นมา หลังจากยึดพะเยาได้แล้ว พญาคำฟูขยายอำนาจไปยังเมืองแพร่แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
พญาผายู (พ.ศ.1879 – 1898) เสนาอำมาตย์ทั้งหลายอภิเษกท้าวยายูเป็นกษัตริย์ล้านนา พญาผายูไม่เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงแสน ทรงประทั้บที่เชียงใหม่ เหตุที่ย้ายที่ประทับลงมาเชียงใหม่ อาจเป็นเพราะเขตทางตอนบนมีความมั่นคง โดยสามารถสร้างเมืองเชียงแสนเป็นปราการป้องกันศึกฮ่อได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถผนกพะเยาได้ ขณะเดียวกั้นพญาผายูทรงสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเชียงของในเขตลุ่มน้ำกก โดยการอภิเษกกับพระนางจิตราเทวี ราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงของ พญาผายูทรงสร้างวัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) ให้เป็นวัดสำคัญของเชียงใหม่
พระเจ้ากือนา (พ.ศ.1898 – 1928) พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและทรงปรีชาสามารถในวิชาศิลปะศาสตร์ทุกแขนง บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ทั่วไป เหตุการณ์สำคัญในสมัยพญากือนา คือ การรับเอาพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์จากสุโขทัย โดยก่อนหน้านั้นพระพุทธศาสนาสืบทอดจากหริภุญไชย และยังดั้บอิทธิพลจากหงสาวดีและอังวะ ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม พญากือนารับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์จากสุโขทัย โดยมีพระประสงค์จะให้พระภิกษุอรัญญวาสีมาอยู่ที่เชียงใหม่ และสามารถทำสังฆกรรมได้ทั้งหมด พญากือนาทรงอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย ใน พ.ศ. 1912 พระสุมนเถระเดินทางถึงเมืองหริภุญไชยพร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย พระสุมนเถระ จำพรรษาที่วัดพระยืนในเมืองหริภุญไชย พญากือนาทรงเลือมใสศรัทธาในพระสุมนเถระมาก เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระภิกษุอรัญญวาสีเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาและถือกันว่าพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เป็นพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ เพราะทการสังฆกรรมถูกต้องมาแต่โบราณ ดังนั้นพญากือนาจึงอาราธนาพระนิกายเดิม อันสืบเนื่องมาจากสมัยพระนางจามเทวีให้บวชใหม่ถึง 8,400 รูป ใน พ.ศ. 1914 พญากือนาทรงสร้างวัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอกในอุทธยานป่าไม้พะยอม เพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระ และได้สร้างเวียงสวนดอกให้เป็นเวียงพระธาตุ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1916 พญากือนาโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดบุปผาราม พระสุมนเถรจำพรรษาอยู่ทีวัดบุปผารามตลอดจนมรณภาพใน พ.ศ.1932 นับว่าพระสุมนเถระมีบทบาทสำคัญต่อการวางรากฐานพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเชียงใหม่
วัดบุปผารามเป็นศูนย์กลางของพุทธศษสนานิกายลังกาวงศ์ หรือเรียกว่า นิกายวัดสวนดอก หรือนิกายรามัญ เนื่องจากพระสุมนเถระได้บวชเรียนจากสำนักพระมหาสวามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะในรามัญประเทศ พญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆ เช่น เชียงแสน เชียงตุง เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนา ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางของศาสนาแทนหริภุญไชยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 – 1944) เป็นโอรสของพญากือนา เมื่อขึ้นครองราช ท้าวมหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนาซึ่งครองอยู่ที่เมืองเชียงราย ได้ยกทัพมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่ประสบความล้มเหลว ท้าวมหาพรหมจึงขอความช่วยเหลือไปที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสมัยของขุนหลวงพะงั่ว พ.ศ. 1929กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกเข้ามาตีล้านนา โดยเข้าปล้นเมืองลำปาง ซึ่งไม่สำเร็จ กองทัพอยุธยาเป็นฝ่ายล่าถอยกลับไป ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อยุธยาขึ้นมาทำสงครามกับล้านนา ส่วนท้าวมหาพรหมภายหลังขัดแย้งกับพญาใต้ จึงกลับมา
ล้านนา พญาแสนเมืองมาส่งให้ไปครองเมืองเชียงรายเช่นเดิม หลังจากทีอยุธยาตีล้านนาไม่สำเร็จ พญาแสนเมืองมาได้ขยายอำนาจลงสู่ทางใต้เมื่อได้โอกาส เพราะสุโขทัยขอกำลังกองทัพล้านนาลงมาช่วยต่อสู้กับอยุธยา แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง เพราะขุนหลวงพะงั่วเสด็จสวรรคตก่อน ฝ่ายสุโขทัยจึงหันมาโจมตีล้านนา กองทัพล้านนาพ่ายแพ้เสียหายมาก ในสมัยพญาแสนเมืองมาได้ทรงเริ่มสร้าง “เจดีย์หลวง” เมื่อ พ.ศ. 1934 ซึ่งไม่แล้วเสร็จในสมัยของพระองค์
พญาสามประหญาฝั่งแกน (พ.ศ. 1945 – 1985) เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ท้าวยี่กุมกาม เจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพระเชษฐาไม่พอใจที่ไม่ได้ครองราชย์ จึงขอกองทัพจากสุโขทัยมาช่วยรบแย่งเมืองเชียงใหม่ ผลท้าวยี่กุมกามพ่ายแพ้หนีไปพึ่งเจ้าเมืองสุโขทัย หลังจากนั้นพญาสามประหญาฝั่งแกนต้องทำสงครามกับฮ่อ สาเหตุเพราะฮ่อไม่พอใจที่ล้านนาไม่ส่งส่วยให้ พญาสามประหญาฝั่งแกนเกณฑ์ทัพจากเชียงใหม่ เชียงแสน ฝาง เชียงราย เชียงของ และพะเยา เข้าทำศึกกับฮ่อ นับเป็นสงครามใหญ่ กองทัพฮ่อพ่ายแพ้ ถูกกองทัพล้านนาติดตามขับไล่จนสุดดินแดนสิบสองปันนา และยังได้ตั้งเมืองยองเป็นเมืองขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองหน้าด่านตอนบนเพื่อต่อต้านฮ่อ

ในสมัยพระยาติโลกราช (พ.ศ.1948 – 2030) เป็นโอรสอันดับที่ 6 ของพญาประหญาสามฝั่งแกน เดิมชื่อ ท้าวลก ครองเมืองพร้าว เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงสร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนา โดยใช้เวลาประมาณ 10 ปีสร้างอาณาจักรล้านนาให้เข็มแข็ง ดังจะเห็นได้จากการขยายอำนาจลงทางใต้ ทรงทำสงครามกับอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นครองเมืองพิษณุโลก ในพ.ศ. 2006 ในการทำสงครามกับล้านนา พระบรมไตรโลกนาถนอกจากจะทรงใช้กำลังทหารโดยตรงแล้ว ยังใช้พุทธศาสนาและไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือ แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องของไสยศาสตร์มาก จนถึงปี พ.ศ. 2018 อยุธยากับล้านนาก็เป็นไมตรีกัน
พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ทรงเลื่อมใสและทำนุบำรุงพุทธศษสนานิกายสีหล โดยพระองค์อาราธนาพระมหาเมธังกร พระภิกษุนิกายสีหลจากเมืองลำพูนมาจำพรรษาที่วัดราชมณเฑียร และทรงสถาปนาให้พระมหาเมธังกรเป็นพระมหาสวามี และพระองค์ทรงผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดงมหาวิหารอีกด้วย การสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสีหลทำให้พุทธศาสนาลังกาวงศ์ใหม่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากเป็นที่เลื่อมใสของผู้คน และมีพระภิกษุบวชใหม่ในนิกายสีหลเพิ่มขึ้น นิกายสีหลเน้นการศึกษาภาษาบาลี และการปฏิบัติพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ทำให้การศึกษาเล่าเรียนด้านปริยัติธรรมเจริญสูง พระเจ้าติโลกราชทรงยกย่องภิกษุที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก พระภิกษุในสมัยนี้ที่มีชื่อเสียงเช่น พระธรรมทิน พระญาณกิตติเถระ พระสิริมังคลาจารย์ เป็นต้น
ในปีพ.ศ. 2020 ทรงได้โปรดเกล้าให้มีการทำ สังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นในปี พ.ศ.2020 ที่วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ใช้เวลา 1 ปีจึงสำเร็จ ถือเป็นหลักปฏิบัติหลักปฏิบัติของพระสงฆ์นิกายต่างๆ ในล้านนาสืบมา
พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างวัดหลายวัด เช่น วัดมหาโพธาราม วัดราชมณเฑียร วัดป่าตาล วัดป่าแดงมหาวิหาร เป็นต้น ทรงต่อเดิม เจดีย์หลวงและทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดพระธาตุลำปางหลวงมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์หลวง
พญายอดเชียงราย (พ.ศ. 2030 – 2038) ทรงเป็นโอรสของท้าวบุญเรือง โอรสองค์เดียวของพระเจ้าติโลกราช พญายอดเชียงรายปกครองบ้านเมือง 8 ปี แต่ไม่มีชื่อเสียงเป็นทีรู้จัก ชินกาลมาลีปกรณ์เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงพระองค์มากกว่าหลักฐานชิ้นอื่น ก็ระบุว่าพระราชกรณียกิจแต่เพียงว่าทรงถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าติโลกราช ณ วัดมหาโพธาราม ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ทรงสร้างสถูปใหญ่บรรจุพระอัฐิไว้ที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด)
พญาแก้ว (พ.ศ. 2038 – 2068) ทรงเป็นโอรสของพญายอดเชียงราย โดยทำสงครามกับอยุธยา ณ บริเวณหัวเมืองชายแดน พ.ศ.2050 พญาแก้ว่สงกองทัพตีเมืองสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นสงครามกับอยุธยาก็เกิดขึ้นหลายครั้ง จนหลัง พ.ศ.2058 พญาแก้วก็ไม่ได้ส่งทัพไปตีอยุธยาอีก และทางอยุธยาก็ไม่ได้ส่งทัพมาตีล้านนาเช่นกัน
ภายหลังสิ้นสมัยของพญาแก้ว (พ.ศ.2038 – 2068) อาณาจักรล้านนาเริ่มแตกแยก เกิดการแย่งชิงสมบัติกันบ่อยครั้ง อำนาจการปกครองได้ตกไปอยู่กับบรรดาขุนนาง เสนา อำมาตย์ ซึ่งสามารถที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนกษัตริย์ได้ ความขัดแย้งแตกแยกนี้ทำให้พม่าโดยพระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาเพียง 3 วันก็สามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดาย และได้ใช้เชียงใหม่เป็นฐานทัพในการเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา ต่อไป จนสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ ในสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อปี พ.ศ.2112
เมื่อถึงสมัยธนบุรี ผู้นำล้านนา ได้แก่พระเจ้ากาวิละ และพญาจ่าบ้าน (บุญมา) ต้องการเป็นอิสระจากการยึดครองพม่า ซึ่งได้ยึดครองสมัยพม่ายกทัพเข้าตึกรุงศรีอยุธยา จึงได้สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ขอกำลังสนับสนุนไปตีเชียงใหม่ สามารถยึดเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาได้ เมื่อ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงโปรดเกล้าให้เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง พญาจ่าบ้านเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่
ตอนปลายสมัยธนบุรี เมืองเชียงใหม่ถูกทิ้งร้างจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ ได้โปรดเกล้าให้พระเจ้ากาวิละไปเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ แทนพญาจ่าบ้านที่เสียชีวิตลง จนถีง พ.ศ. 2347 กองทัพล้านนาได้ร่วมกับกองทัพจากกรุงเทพฯ (รัตนโกสินทร์) ช่วยกันบขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ ทำให้ล้านนาหลุดพ้นจากการยึดครองของพม่าได้สำเร็จล้านนาเป็นประเทศราชของไทย (กรุงรัตนโกสินทร์ฯ ) เรื่อยมา จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ได้ประกาศรวมอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ฯ โดยสถาปนาเป็น “มณฑลพายัพ” ของกรุงรัตนโกสินทร์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2442

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

อาณาจักรล้านนา




อาณาจักรล้านนา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 1839 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ และได้ดำรงอยู่ต่อมา 600 ปีเศษจนถึง พ.ศ. 2442 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศยกเลิกหัวเมืองประเทศราชให้อาณาจักรล้านนาซึ่งอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชเปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลพายัพ



ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาได้แก่ พญามังราย (พ.ศ. 1782 – 1854) ซึ่งตามตำนานพื้นเมือง
เชียงใหม่กล่าวว่า เป็นโอรสของลาวเมง กษัตริย์องค์ที่ 24 แห่งแคว้นหิรัญนคร หรือเงินยางเชียงแสน พระมารดาคือ นางอั้วมิ่งจามเมือง หรือ นางเทพคำข่าย ซึ่งเป็นธิดาของท้าวรุ่งแก้นชาย กษัตริย์ไทลื้อแห่งเมืองเชียงรุ้งเขตสิบสองปันนา พญามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 ต่อมาเมื่อพระบิดาสวรรคตก็ได้เสวยราชย์แทนใน พ.ศ. 1804 เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ลวจังกราชองค์ที่ 25 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย



หลังจากขึ้นครองราชแล้ว พญามังรายมีประสงค์จะสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่จึงทรงรวบรวม
เมืองต่างๆ เข้าไว้ในอำนาจ และทรงสร้างเมืองใหม่และย้ายราชธานีมายังเมืองที่สร้างใหม่ตามลำดับดังนี้ พ.ศ.1805 สร้างเมืองเชียงราย พ.ศ.1816 สร้างเมืองฝาง (อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน) พ.ศ. 1829 สร้างเวียงกุมกาม (อยู่ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) เมื่อรวบรวมเมืองทางตอนบนในลุ่มแม่น้ำกกได้เรียบร้อยแล้ว พญามังรายก็ขยายอำนาจลงมาทางใต้ ลงสู่ลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ทรงใช้อุบายส่งคนไปเป็นไส้ศึกในแคว้นหริภุญชัยนานถึง 7 ปี คนของพระยามังรายยุยงชาวหริภุญชัยให้กระด้างกระเดื่องต่อพญาญีบา กษัตริย์แห่งหริภุญชัยได้สำเร็จ พญามังรายจึงยึดเมืองหริภุญชัยได้โดยง่ายเมื่อ พ.ศ. 1835



ต่อมาพญามังรายทรงเห็นว่า พื้นที่ระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง และดอยสุเทพมีชัยภูมิเหมาะสมจึงสร้างราชธานีใหม่ขึ้น ขนานนามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอาณาจักรล้านนา และพญามังรายทรงเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์มังรายแห่งล้านนา
พญามังรายแห่งล้านนา พญางำเมืองแห่งพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย เป็นศิษย์ร่วมสำนักนักเรียนเดียวกันที่เมืองละโว้ และเป็นสหายร่วมสาบานกัน เมื่อจะสร้างเมืองเชียงใหม่พญามังรายได้เชิญสหายทั้งสองพระองค์มาปรึกษาหารือด้วย การที่กษัตริย์ชาวไทย 3 พระองค์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเช่นนี้ ทำให้รัฐของคนไทยมีความมั่นคงและสามารถขยายอาณาเขตออกไปได้ เพราะไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และเพื่อป้องกันการรุกรา
นของชาวจีนสมัยราชวงศ์มองโก (เจ็งกีสข่าน) ที่ขยายอำนาจลงมาในภูมิภาคน
พญามังรายทรงควบคุมเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ อาณาเขตล้านนาในสมัยพญามังราย ทิศเหนือคือเชียงรุ่ง เชียงตุง ทิศตะวันออกจดแม่น้ำโขง ทิศใต้ถึงลำปาง ทิศตะวันตกถึงแม่น้ำสาละวินทางด้านการก่อสร้างเพื่อสาธารณะประโยชน์ พญามังรายทรงสร้างตลาดแลสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่เวียงกุมกาม สร้างเหมืองฝายหลายแห่งเพื่อทดน้ำไปใช้ในการเกษตร สร้างทำนบกั้นน้ำชนาดใหญ่ยาวถึง 30 กิโลเมตรเพื่อป้องกันน้ำท่วมเวียงกุมกาม ซึ่งถือเป็นทำ “ชลประทาน” ครั้งแรกของชนชาติไทย


ทางด้านการปกครอง เชียงใหม่มีฐานเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร พญามังรายทรงบริหารราชการบ้านเมืองที่เชียงใหม่ ตลอดพระชมน์ชีพ ส่วนเมืองลำพูนทรงแต่งตั้งอ้ายฟ้าปกครอง โดยอยู่ในฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ ซึ่งเชียงใหม่ปกครองอย่างใกล้ชิดเสมือนเมืองแฝด ระยะนี้ลำพูนเป็นศูนย์กลางทางศาสนา ขณะที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง ส่วนเมืองเชียงรายมีความสำคัญอับรองจากเมืองเชียงใหม่ พญามังรายจึงส่งขุนคราม โอรสไปปกครอง สมัยพญามังรายพบว่าดินแดนล้านนา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ล้านนาตอนบน (แคว้นโยนก) มีเชียงรายเป็นศูนย์กลาง ส่วนล้านนาตอนล่าง มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ลักษณะเช่นนี้สืบมาอีกหลายสมัย นอกจากนั้นเมืองอื่นๆ จะส่งโอรสหรือญาติตลอดจนขุนนางที่ไว้วางใจไปปกครอง ตามลำดับความสำคัญของเมือง พญามังรายได้ ตรากฏหมายขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองครองเรียกว่า “กฏหมายมังรายศาสตร์” นับเป็นกฏหมายที่เป็นลายลักษ์อักษรฉบับแรกของไทย และยังได้ประดิษฐ์ตัวอักษรขึ่นใช้เอง คือ “อักษรไทยยวน” หรือ “ไทยโยนก” นับว่าการเริ่มต้นของตัวอักษรของชนชาติไทยเป็นครังแรก ปัจจุบันตัวอักษรไทยยวน ได้กลายสภาพเป็น “อักษรคำเมือง” ของชาวพื้นบ้านในภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้มีการนำเอาพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในอาณาจักรล้านนา นับเป็นการเริ่มต้นของพุทธศาสนาของชนชาติไทย


ที่มา http://school.wattano.ac.th/TCH/suriyan/Part%20LA.htm

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

ถิ่นกำเนิดชนชาติไทย

ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากยังหาหลักฐานมายืนยันอย่างชัดเจนไม่ได้ว่าชนชาติไทย มีถิ่นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ที่บริเวณใด คงมีเพียงข้ออ้างอิง ทฤษฎี และข้อสันนิฐาน ว่ามีถิ่นกำเนิดในที่ต่างๆ กันไป ตามแต่ใครจะหาหลักฐานอ้างอิง หรือมีเหตุผลประกอบการนำเสนอพร้อมหลักฐานอ้างอิงได้ ซึ่มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ค้นคว้า ศึกษา เสาะแสวงหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายืนยันอยู่หลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็ได้แสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งเสนอพยานหลักฐานยืนยันแนวความคิดของตนเอง ซึ่งได้เสนอไว้เป็นแนวทางในการศึกษาถึงถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย ดังนี้



1. บริเวณตอนเหนือของประเทศจีน


ขุนวิจิตรมาตรา (รองอำมาตย์โทสง่า กาญจนาคพันธ์) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือ “หลักไทย” ว่าถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่ที่บริเวณเทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของจีน (ติดกับมองโกเลีย) ต่อมาจึงได้อพยพลงไปทางใต้เพื่อหาที่อยู่ใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า และได้ก่อตั้ง “นครลุง” ขึ้น หลังจากนั้นอพยพมาทางบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน แล้วสร้างเมืองใหม่ คือ “นครปา” หรือ “อ้ายลาว” ซึ่งต่อมาถูกจีนครอบครอง จึงอพยพลงมาทางใต้ เข้าสู่คาบสมุทรอินโดจีน และดินแดนประเทศไทยปัจจุบันตามลำดับ



2. บริเวณตอนกลางของประเทศจีน



หลวงวิจิตรวาทการ และ พระยาอนุมาณราชธร ได้วิเคราะห์เรื่องถิ่นกำเนิดของไทยไว้ในหนังสือเรื่อง “งานค้นคว้าเรื่องเชื้อชาติไทย” ว่า ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่ในดินแดนที่เป็นมณฑลเสฉวน ฮูเป อันฮุย และ เกียงสี บริเวณตอนกลางของจีน ต่อจากนั้นจึงอพยพลงมาทางตอนใต้ที่เป็นมณฑลยูนนานและแหลมอินโดจีน




3. บริเวณตอนใต้ของจีน


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย) ได้แสดงพระราชดำริไว้ในนิพนธ์เรื่อง “แสดงบรรยายพงศาวดารสยามและลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” ว่า แต่เดิมชนชาติไทยมีภูมิลำเนาอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง และยูนนาน ต่อมาถูกจีนรุกรานจึงอพยพเพื่อแสวงหาดินแดนใหม่ โดยแยกออกเป็น 2 สายดังนี้
- สายที่ 1 อพยพไปทางทิศตะวันตกแถบลุ่มน้ำสาละวินในพม่า และบริเวณรัฐอัสสัมของอินเดียปัจจุบัน เรียกว่า “ไทยใหญ่”
-สายที่ 2 อพยพลงมาทางใต้แถบบริเวณแคว้นตัวเกี๋ย สิบสองจุไท สิบสองปันนา ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เรียกว่า “ไทยน้อย”ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของคนไทยปัจจุบัน
4. บริเวณดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน
อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ได้มีนักโบราณคดี นักมนุษยวิทยา และนักชาติพันธุ์วิทยา ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ในยุดที่ยัง ไม่มีตัวอักษรสำหรับใช้บันทึกเรื่องราวของตนเป็นหลักฐานและความรู้ทางเทคโนโลยี ก็อยู่ในระดับต่ำซึ่งเรียกว่า “ยุคหิน” และ “ยุคโลหะ” อันเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏว่าได้ค้นพบโครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องใช้ ของมนุษย์ในสมัยดังกล่าวเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า ในดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบันนี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลกแห่งหนึ่ง ก่อนจะถึงยุดที่มีตัวอักษรบันทึกเรื่องราว แหล่งที่ค้นพบอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยที่สำคัญ

การวิเคราะห์และประเมินผลงานสื่อนำเสนอแบบต่างๆ

หลักสร้างสื่อนำเสนอที่ดีมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญได้แก่

1. ความเรียบง่าย: จัดทำสไลด์ให้ดูเรียบง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ใช้สีอ่อนเป็นพื้นหลังเพื่อไม่รบกวนสายตาในการอ่าน และสามารถเห็นเนื้อหาได้อย่างชัดเจน หรือใช้พื้นหลังตามลักษณะเนื้อหา
2. มีความคงตัว (consistent): เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการนำเสนอสไลด์ซึ่งเป็นเนื้อหาในเรื่องเดียวกัน คือ ต้องมีความคงตัวในการออกแบบสไลด์ ซึ่งหมายถึงต้องใช้รูปแบบสไลด์เดียวกันทุกแผ่นที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้น โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสี พื้นหลัง หรือขนาดและแบบตัวอักษร แต่หากต้องการเน้นจุดสำคัญ หรือเป็นเนื้อหาย่อยออกไปจะสามารถเปลี่ยนบางสิ่ง เช่น สีตัวอักษรในสไลด์ให้ดูแตกต่างไปได้บ้าง หรืออาจมีการเปลี่ยนสีพื้นหลังให้แตกต่างจากเนื้อหาสักเล็กน้อยก็อาจทำได้เช่นกัน
3. ใช้ความสมดุล: การออกแบบส่วนประกอบของสไลด์ให้มีลักษณะสมดุลมีแบบแผน (formal balance) หรือสมดุลไม่มีแบบแผน (informal balance) ก็ได้ แต่ต้องระวังสไลด์ทุกแผ่นให้มีลักษณะของความสมดุลที่เลือกใช้ให้เหมือนกันเพื่อความคงตัว
4. มีแนวคิดเดียวในสไลด์แต่ละแผ่น: ข้อความ และภาพที่บรรจุในสไลด์แผ่นหนึ่งๆ ต้องเป็นเนื้อหาของแต่ละแนวคิดเท่านั้น หากเนื้อหานั้นมีหลายแนวคิด หรือเนื้อหาย่อยต้องใช้สไลด์แผ่นใหม่
5. สร้างความกลมกลืน: ใช้แบบอักษรและภาพกราฟิกให้เหมาะสมกับลักษณะของเนื้อหา ใช้แบบอักษรที่อ่านง่าย และใช้สีที่ดูแล้วสบายตา เลือกภาพกราฟิกที่ไม่ซับซ้อน และให้ถูกต้องตรงตามเนื้อหา รวมถึงให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการด้วย
6. แบบอักษร: ไม่ใช้อักษรมากกว่า 2 แบบในสไลด์เรื่องหนึ่ง โดยใช้แบบหนึ่งเป็นหัวข้อ และอีกแบบหนึ่งเป็นเนื้อหา หากต้องการเน้นข้อความตอนใดให้ใช้ตัวหนา (bold) หรือตัวเอน (italic) แทนเพื่อการแบ่งแยกให้เห็นความแตกต่าง
7. เนื้อหา และจุดนำข้อความ: ข้อความในสไลด์ควรเป็นเฉพาะหัวข้อ หรือเนื้อหาสำคัญเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของเนื้อหา และควรนำเสนอเป็นแต่ละย่อหน้า โดยอาจมีจุดนำข้อความอยู่ข้างหน้า เพื่อแสดงให้ทราบถึงเนื้อหาแต่ละประเด็น และไม่ควรมีจุดนำข้อความมากกว่า 4 จุดในสไลด์แผ่นหนึ่ง โดยสามารถใช้ต้นแบบสไลด์ที่มีจุดนำข้อความใน Auto Layout เพื่อเพิ่มจุดนำข้อความให้ปรากฏขึ้นหน้าข้อความแต่ละครั้งเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้รับฟังการนำเสนอ อาจจะใช้การจางข้อความ (dim body text) ในข้อความที่บรรยายไปแล้วเพื่อให้มีเฉพาะจุดนำข้อความ และเนื้อหาที่กำลังนำเสนอเท่านั้นปรากฏแก่สายตา
8. เลือกใช้กราฟิกอย่างระมัดระวัง: การใช้กราฟิกที่เหมาะสมจะสามารถเพิ่มการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิผล แต่หากใช้กราฟิกที่ไม่เหมาะสมกับเนื้อหาจะทำให้การเรียนรู้นั้นลดลง และอาจทำให้สื่อความหมายผิดไปได้
9. ความคมชัด (resolution) ของภาพ: เนื่องจากความคมชัดของจอมอนิเตอร์มีเพียง 72-96 DPI เท่านั้น ภาพกราฟิกที่นำเสนอประกอบในเนื้อหาจึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก ควรใช้ภาพในรูปแบบ JPEG ที่มีความคมชัดปานกลาง และขนาดไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 20-50 KB ซึ่งท่านควรทำการบีบอัด หรือcompress และลดขนาดภาพก่อนเพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่ในการเก็บบันทึก และการจัดส่งไฟล์ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e- mail) หรือการอัพโหลดไว้บนเว็บไซต์จะสามารถทำได้ไวยิ่งขึ้น
10. เลือกต้นแบบสไลด์ และแบบอักษรที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ร่วม: เนื่องจากการนำเสนอต้องมีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับอุปกรณ์ร่วม เช่น เครื่องแอลซีดี หรือโทรทัศน์เพื่อเสนอข้อมูลขยายใหญ่บนจอภาพ ดังนั้น ก่อนการนำเสนอควรทำการทดลองก่อนเพื่อให้ได้ภาพบนจอภาพที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะว่าเมื่อฉายแล้วเสี้ยวซ้ายของสไลด์จะไม่ปรากฏให้เห็นตามหลักของอัตราส่วน 4:3